การประชุมคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา ศูนย์แนะแนวและให้คำปรึกษา ม.ราชภัฏพิบูลสงคราม

คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา ศูนย์แนะแนวและให้คำปรึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ร่วมกันประชุมเพื่อหารือแนวทางการสร้างเครือข่ายดูแลจิตใจ ให้การช่วยเหลือนักศึกษากรณีเหตุวิกฤต หลังสำรวจนักศึกษา 2 พันราย เสี่ยงซึมเศร้า 28.71 % เครียด 21.19% และ เสี่ยงฆ่าตัวตายมากถึง 14.93 %

วันนี้ 15 พฤศจิกายน 2566 กองพัฒนานักศึกษา โดย หน่วยแนะแนวและให้คำปรึกษา งานส่งเสริมอาชีพและศิษย์เก่า จัดประชุมหารือผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา เพื่อพัฒนาศูนย์แนะแนวและให้คำปรึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้ “โครงการคู่เครือข่ายดูแลจิตใจ ก้าวสู่คนไทยคุณภาพ” ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารกิจการนักศึกษา

เปิดข้อมูลนักศึกษา เสี่ยงซึมเศร้าสูง 

นางสาวสิริลักษณ์ วงศ์ประสิทธิ์ นักแนะแนวการศึกษาและอาชีพ ชำนาญการ นำเสนอผลการประเมินสุขภาพจิตด้วย Mental Health Check In (MHCI) ตั้งแต่เปิดภาคเรียนที่ 1/2566 จนถึง ณ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 พบว่า นักศึกษา 1,038 คน มีความเสี่ยงซึมเศร้า ร้อยละ 28.71 มีความเครียดสูง ร้อยละ 21.19 และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 14.93 นอกจากนี้ ผลประเมินคัดกรองโรคซึมเศร้า (9Q) ผ่าน APP DEKPIBUL พบว่า นักศึกษา 2,419 คน มีผลประเมินไม่ผ่านเกณฑ์ 40.89% ซึ่งเป็นสถิติที่มหาวิทยาลัยควรให้การดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และเครียด ที่พบมากโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น โดยกระบวนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันจะช่วยทำให้เกิดการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือที่สามารถดูแลนักศึกษาในลักษณะเป็นที่พึ่ง ส่งผลให้นักศึกษาใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยอย่างมีความสุขมากยิ่งขึ้น

ความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา

ที่ประชุมมีความเห็นว่ามหาวิทยาลัยควรยกระดับการสร้างความรอบรู้ด้านดูแลสุขภาพใจในทุกมิติ นำเสนอมหาวิทยาลัยให้เห็นและเข้าใจปัญหา และสร้างกิจกรรมสำหรับนักศึกษาในลักษณะให้ข้อมูลข่าวสารเพื่อทำความเข้าใจและป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างถูกต้องและเป็นปัจจุบัน เท่าทันสถานการณ์การดูแล และร่วมกันแก้ไขปัญหาโดยร่วมมือทุกภาคส่วนตั้งแต่ระดับ อาจารย์ที่ปรึกษา หน่วยงานระดับคณะ กองพัฒนานักศึกษา ที่สามารถกลั่นกรองเบื้องต้น กรณีส่งต่อควรมีช่องทางเร่งด่วน ในลักษณะ Fast Track ที่สามารถส่งต่อการดูแลร่วมกับเครือข่ายกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ สาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลพุทธชินราช โรงพยาบาลจิตเวชพิษณุโลก และ ศูนย์สุขภาพจิตที่ 2 พร้อมมีการจัดทำแผนเผชิญเหตุกรณี เหตุวิกฤตของนักศึกษาที่ชัดเจนในระยะต่อไปอีกด้วย

ขอขอบคุณผู้มีจิตอาสาดูแลหัวใจทุกท่าน
อาจารย์ปวิมล      มหายศนันท์
อาจารย์ยุวดี        อัครลาวัณย์
อาจารย์ศุภกิจ      เครือกลัด
อาจารย์นลินี        สิทธิบุญมา
อาจารย์นิศาชล    คำนุช